วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สาส์นจากแพกาญฯ : ลอย ลอย กระทง

เทศกาลลอยกระทงเพิ่งจะผ่านพ้นไป
สำหรับหลายคนที่เลิกงานแล้วก็เดินแวะไปซื้อกระทง
ลอยให้พอเข้าสังคม ถ่ายรูปลงโซเชี่ยว ลอยให้พอสร้างขยะ แล้วกลับบ้าน
อาจจะไม่รู้สึกอินเท่าไร

แต่สำหรับคนที่ต้องจัดงานเตรียมงานเพื่อให้แขกฝรั่งมาลอยกระทงที่แพอย่างดิฉัน
บอกเลยว่า "เหนื่อยมากกกกกกกก"
นอกจากจะต้องสั่งทำกระทง จัดแต่งสถานที่ เตรียมโชว์ จัดที่นั่งให้แขกดูโชว์
ฉันยังต้องทำกระทงของตัวเองอีกด้วย :)

แต่ความเหนื่อยที่เกิดขึ้นทั้งหมด หายไป
เมื่อเห็นความสุขของฝรั่งที่มาดู
(ตอบสวยเหมือนนางงามจริงๆ)

เพราะคิดถึงเวลาที่ตัวเองไปเที่ยว
ได้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างของเขา
ได้เรียนรู้ที่มาที่ไปของแต่ละเร่ืองราว แต่ละวัฒนธรรม

ฉันเคยคุยกับป้ามักก้า เขาเป็นเพื่อนพ่อชาวไอส์แลนด์
เขาดีใจมากที่ฉันรักการเดินทาง

"It helps you learn how to respect people."

ฉันเห็นว่าจะจริง
คนที่ชอบเดินทาง(ไม่ใช่ชอบเที่ยวนะ)
มักใส่ใจรายละเอียด และไม่ดูถูกคนอื่น

น่าประหลาดใจที่ฝรั่งกลับเป็นคุณค่าของการขอขมาแม่น้ำ
มากกว่าเจ้าของประเทศที่ลอยกระทงกันทั้งเมือง
โดยที่ไม่สนใจความสำคัญของมัน




กลับมาที่งานลอยกระทง
มีผู้หญิงและเด็กน้อยแต่งตัวเป็นพม่าเต็มยศมา
เขาคือลูกและเมียของพี่โทน (ตัวละครที่เคยโผล่มาตั้งแต่ตอนแรก)



พี่จา - เมียพี่โทน ยามเช้าเขาจะมาทำความสะอาดให้ห้องพักด้านบน
ตกเย็นเขาจะแปลงร่างเป็นหมอนวดประจำแพด้วย
ฉันผู้ต้องดูแลพื้นที่ด้านบนเป็นหลัก จึงสนิทกับเขามากเป็นพิเศษ





"เย็นนี้พี่จะมางานด้วย เอาน้องนัทมาลอยกระทง"
"พี่จาแต่งตัวเป็นมอญมาเลยสิ แต่งให้น้องนัทก็ได้"
"คิดอยู่ว่าจะแต่งเป็นมอญ หรือ พม่าดี พี่ไปจ้างเขาเย็บชุดมาเลยนะให้น้องนัท"
 "แต่งมาเลย ฝรั่งกรี๊ดกร๊าดแน่พี่จา"
"พี่สั่งซื้อกระทงไปแล้วด้วย 3 อัน"

ล่วงเลยมาตอนเย็น ฉันเจอพี่โทนกับกระทงดูบิดๆเบี้ยวๆ
"นี่คือกระทงที่ซื้อมาเรอะ ทำไมมันแปลกจัง"
"ผมทำเอง ผมบอกจาแล้ว เก็บเงินให้น้องนัทกินขนมดีกว่า ผมทำให้เอง"
 
หลังจากประโยคนั้นไม่นาน พี่จาก็แต่งองค์ทรงเครื่องมาพร้อมกับน้องนัท

ในงานมีสาวพม่า และเด็กน้อยชาวพม่าอีก 1 คน
ทั้งคู่ไม่พูดอะไรมากมาย เพราะรู้ว่าพี่โทนทำงานอยู่



 พี่จาพาน้องนัทไปนั่งรอที่ท่าน้ำ จนฉันต้องแซวว่า 
"คิดว่าเป็นพี่มากรึไง ต้องให้สาวรออยู่ที่ท่าน้ำเนี่ย!"
"โอ้ยย นั่นใครไม่รู้ ไม่รู้จักกัน" พี่โทนพูดแบบเขินๆ
"แน่ใจนะว่าไม่รู้จัก งั้นเดี๋ยวไปบอกเขาให้"
"โอ้ ตายละพี่ เล่นผมอีกแล้ว ผมทำงานอยู่ เขารู้ เขาเข้าใจ"


หลังจากการโชว์
หลังจากที่แขกหมู่มากลอยกระทงเรียบร้อย
หลังจากที่คนในบาร์เริ่มซา


จะเห็นพ่อ แม่ ลูก เดินมาพร้อมหน้าพร้อมตา
จุดเทียน อธิษฐาน และนั่งลอยกระทงพร้อมกัน

นอกจากจะเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของครอบครัวนั้นแล้ว
จะมีใครเห็นฉันที่มองพวกเขา แล้วแอบยิ้มบ้างไหมนะ : )



วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สาส์นจากแพกาญฯ : รับขนมจีบ ซาลาเปาเพิ่มไหมคะ?

จากจุดที่ฉันอยู่ เรียกว่าห่างไกลความเจริญมาก
ซึ่งความเจริญที่ฉันใช้เป็นมาตรวัด คือ 7-11
โดยความเจริญที่ใกล้ที่สุดจากแพฉัน ห่างไป 26 km.

เรียกว่าไกลเกินกว่าที่จะเดินไปซื้อสเลอปี้กินแน่นอน

ทุกวันนี้ความสุขของคนในแพ คือการได้ไปเที่ยว 7-11

"เห้ย วันนี้ไปท่าเสาเหรอ ฝากซื้อป๊อกกี้หน่อยดิ"
ใช่ เป็นเรื่องน่าประหลาดที่ร้านค้าแถวนี้ไม่ขายป๊อกกี้
อาจจะเพราะชาวบ้านแถวนี้ไม่นิยมขนมที่มีครีมหรือช๊อคโกแลตเป็นส่วนประกอบ

"โหยย ได้ไปหินดาดด้วย ฝากซื้อแยมโรล 7-11 หน่อย"

 "วันนี้ป้าไม่อยู่ พี่เลยได้ไปเที่ยว 7-11"

การมาอยู่ที่นี่ทำให้ฉันรู้สึกว่า 7-11 ช่างสูงส่งเหลือเกิน
จนกระทั่งเมื่อเช้า
ฉันเอาขนมปังไปให้เชอรี่ เชอรี่กินและบอกว่า

"ไม่อร่อยเลย ขนมปังฝรั่งเศสเนี่ย หนูซื้อกินที่ 7-11 หน้าบ้านอร่อยกว่า"
ฉันตาลุกวาว
"เชอรี่ ทำไมหน้าบ้านเรามี 7-11 ด้วยเหรอ?"
"มีสิคะ หนูแวะกันทุกเช้าอ่ะ นี่ไงเมื่อเช้าก็ซื้อมา"



"เห้ย มันอยู่ตรงไหน?!" ฉันกะสะสมแสตมป์ต่อแต้มทันที
"นี่ไงคะ 7-11"



ใจความเร่ืองนี้คือ
แขกทุกคนที่เดินทางออกมาจากพัทยา
จะได้ขนมปัง ไข่ต้ม และน้ำผลไม้ จากทัวร์
ถ้าหากเขาไม่อยากกิน หรือกินแล้วไม่อร่อย
เขาก็จะทิ้งมันทั้งกล่อง
(ไม่ต้องห่วงเรื่องอนามัย เพราะมันบรรจุอยู่ในกล่องเรียบร้อย)

จนกลายเป็น 7-11 ของชาวแพ! 

"บางทีเขากินขนมแล้วไม่อร่อย ก็ทิ้งไงพี่แนน
ขนมบางทีก็ซื้อจาก 7-11 อยู่ในห่ออย่างดี
เขาไม่อยากกินแล้วก็ขี้เกียจเอากลับ
เสร็จพวกหนูนี่แหละ"

สรุป อดสะสมแสตมป์ตามเดิม
รอเวลาไปเที่ยว 7-11 เองก็ละกัน

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สาส์นจากแพกาญฯ : ตกเรือกันไหม?

วันนี้เกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
เมื่อเช้า ฉันเช็คกุญแจ และเห็นว่ากุญแจยังขาดไป 2 ห้อง
และแน่นอนว่าฉันบอกไกด์ไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ด้วยความวุ่นวายช่วงเช้า

แพของทัวร์นั้นก็ล่องออกไปแบบสงบ
โดยที่ฉันไม่รู้เลยว่าไปตอนไหน

จนกระทั่ง..
มีฝรั่งเดินหน้าตามึนๆออกมา ตอน 8 โมงกว่า!
และบอกว่า ตัวเองอยู่ห้องที่ฉันบอกว่ากุญแจหายนั่นแหละ
แต่ประเด็นคือ ไกด์ลืมแขกอีก 4 คนได้ยังไง?!

ความผิดจึงมาตกที่ตัวฉัน ที่ไม่ยอมโวยวายขึ้นมาว่ากุญแจไม่ครบ
(อ่าว ไหงงั้น?)

แต่สิ่งที่ฉันกังวลกว่าคือ แขกจะไม่ได้ล่องแพ จะไม่ได้ทำกิจกรรมที่เป็น hi-light ของทริป
เพราะสุดท้ายรถบัสจะวนกลับมารับแทน

เมื่อแขกทั้ง 4 คนเดินมาที่ Lobby ฉันก็ถึงบางอ้อว่าทำไมเขาถึงไม่ได้ยินการปลุก
เพราะตอนที่คนไปปลุก..
เขานั่งกินอาหารเช้าอยู่ด้วยกันที่นี่แหละ!
แล้วคงจะกลับไปนอนหลังจากนั้น ตื่นมาอีกทีก็ตึ่ง.. คนหายไปหมดแล้ว

ป้าเจ้าของแพเครียดมาก รู้สึกถึงความผิดพลาดที่ไม่ควรให้อภัยของไกด์
..และฉัน

แขกทั้ง 4 สนุกสนาน กินข้าวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซ้ำยังเอากล้องมาถ่ายรูปว่าตกเรือ
ทำให้ฉันได้คิดขึ้นมาว่า
เรื่องราวการมาเที่ยวของแต่ละคน ไม่ควรจะเหมือนกัน
สิ่งที่เราคิดว่าเป็นหายนะของการเดินทาง
มักเป็นเรื่องที่น่าจดจำเสมอ

คิดเทียบกับชีวิตของคน
เวลาที่เห็นเพื่อนหลายคนมีชีวิตที่ดี มีการทำงานที่ไต่เต้าไปตามลำดับ
บางทีฉันก็อดอิจฉาไม่ได้
เมื่อเทียบกับชีวิตที่ระหกระเหินของฉัน
ที่คาดเดาไม่ได้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

แต่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ก็อาจจะน่าเบื่อ
ชีวิตที่รู้อยู่แล้วว่าวันพรุ่งนี้จะต้องเดินซ้าย ก้าวขวา พยักหน้า 3 ที
อาจจะไม่เก๋เท่านึกไม่ออกเลยจริงๆว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร
ทำให้เรากลายเป็นคนเตรียมพร้อมขึ้นกว่าเก่า
ทำให้เราเข้มแข็ง และพลิกแพลงตัวเองกับบทเรียนแต่ละวันให้ดีขึ้น
และพร้อมยิ้มให้กับเรื่องที่เกิดขึ้น (ในอนาคต)
แบบพวกเขาเหล่านี้  






วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สาส์นจากแพกาญฯ​ : คำพูดที่มีค่า

ฉันทำงานที่แพ เริ่มต้นจาก 0
ทุกอย่างเริ่มใหม่หมด
ทักษะการทำความสะอาด การตัดต้นไม้ การดูแลพับผ้า การจัดห้อง

(ฯลฯ)

แน่นอนว่าทักษะแบบนี้ ล้วนเป็นทักษะที่จำเป็น
แต่ก็เหมือนกับเราต้องเขียนอธิบายว่าเราควรจะต้อง "ทำ" อย่างไร
รวมไปถึง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า?

-------------------------------------------------------------

คุณลุงเจ้าของแพ เป็นคนขี้บ่น เรียกว่าขี้บ่นระดับชาติ
และมักจะ "พูด" ความคิดของตัวเอง (มักจะเป็นความคิดจากจิตสำนึกที่ดี)
ให้คนรอบข้างฟังอยู่เสมอ

การพูดของลุงมีตั้งแต่เกริ่น / สอน / บ่น / เตือน / ด่า / กร่นด่า / ขุดรากเหง้ามาตบหน้าด้วยคำพูด
ตามแต่สถานการณ์

แน่นอนว่าหลายคนส่ายหัว เวลาลุงพูด
เพราะคำพูดแต่ละคำของลุง ช่างเสียดแทงเหลือเกิน

ลุงสอนให้ทุกคน "สร้างระบบ" ในการทำงาน
เพื่อจะทำงานง่ายขึ้น ไม่เป็นภาระให้กับคนที่ต้องทำงานต่อจากตัวเอง
นั่นเป็นสิ่งที่ฉันเห็นว่าจำเป็น และเห็นด้วยสุดพลัง
มีเพียงปัญหาเล็กๆข้อเดียว
.. ลุงไม่มีระบบในตัวเองสักนิด..

และเรื่องสำคัญคือ
ลุงไม่เคยโทษตัวเองเลยสักนิด
"ของที่อยู่ตรงนี้มันหายไปเพราะมีคนมาย้ายมัน" ลุงบ่นในวันที่มีคนเก็บของเวลาลุงวางระเกะระกะ
"วางของเรี่ยราด แล้วของก็หายทำไมไม่เก็บให้เป็นระบบ" ลุงบ่นในวันที่คนวางของแบบเดิมไม่ใช่ลุง
 ปัญหาคือ ทุกคนผิดหมด ลุงถูกเสมอ

ระบบของลุง จึงไม่เคยได้รับความสนใจจากคนอื่น
พอกับคำบ่นของลุง ที่หลายคนฟังแบบผ่านไป แทนจะเก็บมาใส่ใจ


------------------------------------------------------------

นอกจากเชอรี่แล้ว ยังมีคนงานอีกคนที่ขยันจนมดเรียกพี่
เขาชื่อ "พี่เล็ก" เป็นสาวมอญ สัญชาติพม่า นัยตาคม
พี่เล็กทำงานได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ปลูกต้นไม้ ตัดแต่ง ขัด ถู ปูเตียง ฯลฯ
เรียกว่าขอให้บอกเถอะ พี่เล็กจัดให้! 

ฉันทำงานกับพี่เล็กหลายวันแล้ว
แต่วันนี้เป็นวันที่ intensive course สุด ต้องอยู่ด้วยกัน 2 : 2 
จึงมีเวลาคุยกันมากหน่อย 

พี่เล็กแตกต่างจากคนอื่น ตรงที่พี่เล็กช่างคิด เอาใจเขาใส่ใจเรา 
และตั้งใจทำงานอย่างประเสริฐ

ในบทสนทนาฉันเผลอพูดโดยไม่ทันคิดว่า
"อยากขยันแบบพี่เล็กบ้างจัง.."
"พี่ว่าน้องแนนก็ขยันนะ ก็เห็นทำอะไรตลอด"
"ตายจริง ดีใจจังที่พี่เล็กชม แถมชมว่าขยันนี่..สุดยอด"
"คนเรามันขยันกันได้หลายแบบนะ บางคนขยันเรื่องเบาๆ"
เอ่อะ คำนี้ทำให้ฉันต้องคิด ว่าอะไรคือการขยันเรื่องเบา
อาจจะเป็นเร่ืองไร้สาระละมั๊ง

"น้องแนนไม่คิดถึงแม่บ้างเหรอ?"
"คิดถึงสิ อยากกลับกรุงเทพฯจะตาย"
"อดทนนะ คิดถึงก็กลับบ้านบ้าง"

คำพูดพี่เล็กทำฉันผู้ตัดกิ่งไม้อยู่น้ำตาคลอนิดๆ
 และมีแรงที่จะทำสิ่งต่างๆต่อไป
อย่างน้อยก็ในวันนี้
------------------------------------------------------------
มองย้อนกลับไป ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่าฉันทำอะไรหลายอย่าง
ที่คิดว่าชาตินี้ก็ทำไม่ได้
แต่ฉันสามารถทำมันจนกลายเป็นชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว

ฉันตื่นตี 5 ครึ่ง มาเริ่มทำงาน
ฉันทำงานได้หลายหลากรูปแบบ 

สุดท้ายบทเรียนที่เราคิดว่าเราจะทำ เราจะเรียน
มันอาจจะต้องเริ่มจากสิ่งง่ายๆ 
คือการ "ทำ" ให้มากกว่า "พูด"

เพราะถ้าคนยอมรับในการกระทำของเรา
เราจะพูดคำสั้นๆ เพียงเล็กน้อย
มันจะเป็นคำที่ยิ่งใหญ่เสมอ